อย่างไรจึงเรียกว่าใช้ยาถูกต้อง

การใช้ยาที่ถูกต้องนั้น ก็คือ ใช้ยาแล้วโรคหาย และปลอดภัยด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ถูกคือ

ภาพจาก kenhthoitiet

1.ถูกโรค ใช้ยาให้เหมาะสมกับโรคที่เป็น เช่น เป็นไข้ ก็ใช้ยาลดไข้ ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ เป็นหวัดไม่เจ็บคอก็ไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น

2.ถูกขนาด ต้องใช้ให้ถูกตามที่แนะนำโดยเภสัชกร หรือในฉลาก คือ ถูกขนาดที่ใช้รักษา ถ้ามากไปก็เกิดอาการพิษได้ ใช้น้อยไปก็ไม่มีผลในการรักษา

ในข้อนี้ถ้าเป็นยาเม็ดก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ายาน้ำ ซึ่งมักบอกขนาดเป็น ช้อนโต๊ะ ช้อนชา จะเป็นปัญหาทีเดียว เพราะมีผู้เข้าใจผิดกันอยู่มาก ที่ถูกต้องเป็นดังนี้

ภาพจาก khonphutorn

1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร ประมาณเท่ากับ 1 ช้อนกินข้าว

1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร เท่ากับ 3 ช้อนชา หรือ 3 ช้อนกินข้าว

จะเห็นว่า ช้อนชา และช้อนโต๊ะ ปริมาตรไม่เท่ากับช้อนกาแฟหรือช้อนคาวที่ใช้ในครัวเลย ถ้าจะให้ดีควรใช้ช้อนที่ติดมากับขวดยา เป็นดีที่สุด

3.ถูกเวลา เมื่อไปซื้อยาจากเภสัชกร ท่านจะได้รับคำแนะนำว่า กิน 3 เวลาหลังอาหาร หรือก่อนอาหาร ทำไมเข้าจึงแนะนำท่านเช่นนั้น และท่านจะทำตามคำแนะนำได้อย่างไร

-รับประทานก่อนอาหาร หมายความว่า ก่อนอาหาร 1/2-1 ชั่วโมง เนื่องจากยาบางชนิดจะถูกทำลายได้โดยกรดในกระเพาะ ถ้าไปรับประทานหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร จะทำให้มียาเหลือน้อยที่จะดูดซึมได้ หรือเนื่องจากยาถูกดูดซึมได้ดีเวลาท้องว่าง ยาพวกนี้ เช่น ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลิน แอมพิซิลิน ไรแฟมพิซิน เป็นต้น ผลการรักษาของยานี้จะลดลงมากถ้าไม่รับประทานตอนท้องว่าง คือก่อนอาหาร 1/2-1 ชั่วโมง

ภาพจาก design

ยากระตุ้นให้อยากอาหาร เช่น ไซโปรเฮปตาดีน (cyproheptadine) ไพโสทิเฟน (Pizotifen) ต้องรับประทานก่อนอาหารแต่ละมื้อ 1/2 ชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์พอดีเวลาอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น

ภาพจาก en.wikipedia
Periactin (cyproheptadine) 4 mg tablets

-รับประทานหลังอาหารทันที หรือพร้อมอาหาร เนื่องจากเป็นยาที่กัดกระเพาะ ต้องรับประทานขณะที่มีอาหารอยู่ในกระเพาะได้แก่ ยาแก้ปวดชนิดต่างๆ เช่น แอสไพริน เอพีซี ยาแก้ปวดข้อทุกชนิด เช่น เฟนิลบิวตาโซน หรือบิวต้า ไอบูโพรเฟ่น นอกจากนี้ก็มี ยาขับปัสสาวะ ยาลดน้ำตาลในเลือดบางชนิด ยาขยายหลอดลมในคนหอบหืด ยาฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะบางชนิด ให้สังเกตดูเองว่ายาใดรู้สึกคลื่นไส้ ไม่สบายท้องเวลารับประทาน ให้ลองรับประทานเวลามีอาหารเต็มท้องอาการจะหายไปได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ เตตร้าซัยคลิน ควรรับประทานก่อนอาหาร 1/2 ชั่วโมง เพราะถ้ารับประทานเวลามีอาหาร มันจะจับกับสารในอาหารทำให้ดูดซึมน้อยลง แต่เนื่องจากมันระคายกระเพาะมากทำให้คลื่นไส้อาเจียน จึงควรรับประทานเวลาท้องหนักๆดีกว่า แต่ควรเพิ่มขนาดจาก 1 แคปซูล เป็น 2 แคปซูล

ภาพจาก en.wikipedia
Tetracycline hydrochloride ในรูปแบบผงผลึกสีเหลือง
ภาพจาก en.wikipedia
Antacid tablets ยาลดกรดแบบเม็ด

-รับประทานหลังอาหาร 1 และ 3 ชั่วโมง คือ ยาลดกรด ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด

ยาส่วนใหญ่แล้วมักไม่มีผลแตกต่าง ไม่ว่าจะรับประทานเวลาใด เช่นยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาคลายกังวล ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะออกจากร้านขายยา ก็ควรถามเภสัชกรให้ชัดเจนว่า ยาต่างๆควรทานเวลาใดและปฏิบัติตามคำแนะนำของเขาเป็นดีที่สุด

ภาพจาก Twitter
ยาแก้แพ้

4.ถูกทาง คือ ถูกตามวิธีทางที่จะให้ยา เช่น ยาให้ทางปากคือรับประทาน ยาฉีด ยาทาภายนอก ยาเหน็บช่องคลอด หรือทวาร ยาป้ายคอ เป็นต้น

5.ถูกตามคำแนะนำ ที่ติดมากับฉลากยา ข้อความที่ผู้จ่ายยาเขียนไว้บนฉลากนั้น ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผลเต็มที่จากยานั้น เช่น

-เขย่าขวดก่อนใช้ เนื่องจากเป็นยาที่มีตะกอน ก่อนใช้ต้องเขย่าให้ผงยากระจายทั่วๆกัน เวลาตวงยาจะได้ปริมาณยาเท่ากันทุกครั้ง เช่น ยาลดกรดแบบน้ำ ยาธาตุ ยาขับลม ยาปฏิชีวนะแบบน้ำ ยาระบายบางชนิด แต่ทางที่ดี ถ้าเป็นยาน้ำ ควรเขย่าขวดก่อนใช้ทุกครั้ง

ภาพจาก 24osot
ยาธาตุน้ำขาว

-เคี้ยวก่อนกลืน เช่น ยาลดกรดชนิดเม็ด ถ้าไม่เคี้ยวจะลดกรดได้น้อยมาก

-อมใต้ลิ้น คือ ยาที่ใช้ในคนเป็นโรคหัวใจบางชนิด ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างปัจจุบัน ต้องการให้ยาออกฤทธิ์เณ้วที่สุดใน 1-2 นาที

ภาพจาก Twitter
อาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างปัจจุบัน ในผู้ป่วยโรคหัวใจ

-จุ่มน้ำก่อนเหน็บหรือแช่เย็นก่อนเหน็บ ยาเหน็บที่ใช้รักษาริดสีดวงทวาร มันจะนิ่มถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้อง ทำให้เหน็บลำบาก ควรเก็บในตู้เย็น หรือแช่น้ำเเข็งพร้อมทั้งกระดาษตะกั่วที่หุ้ม แล้วก่อนใช้แกะกระดาษออก แล้วเหน็บ

ภาพจาก goods-pharmacy
ยาเหน็บที่ใช้รักษาริดสีดวงทวาร

-ดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของยานั้นในท่อไต ได้แก่ยาพวก ซัลฟา ซึ่งละลายน้ำไม่ดี ต้องดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อช่วยให้มันถูกขับออกทางปัสสาวะได้ ยาอีกประเภทคือ ยาที่รักษาโรคเก๊าท์ เช่น Allopurinol พวกนี้อาจทำให้เกิดการตกตะกอนของกรดยูริคในท่อไตได้ การดื่มน้ำตามมากๆ จะช่วยละลายให้กรดยูริคถูกขับออกทางปัสสาวะได้

ภาพจาก en.wikipedia
Allopurinol บริสุทธิ์ รูปแบบผงสีขาว

-กินยาตามที่กำหนดติดต่อกันจนหมด พวกนี้โดยมากจะเป็นยาปฏิชีวนะ ต้องกินยาจนหมด ห้ามหยุดยาแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะว่ายาปฏิชีวนะคือยาฆ่าเชื้อ ซึ่งแม้อาการจะทุเลาแล้วแต่เชื้ออาจยังหลงเหลืออยู่ ต้องกินต่อเพื่อฆ่าให้หมด มิเช่นนั้นถ้าหายแล้วเลิกกินอาจทำให้ไม่นานกลับมาเป็นอีก หรือเป็นโรคอื่นแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น การเจ็บคอ ทอนซิลอักเสบจากเชื้อ beta hemolytic streptococci ในเด็ก ถ้าให้ยาไม่ครบอาจเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค โรคกรวยไตอักเสบ เป็นต้น

ภาพจาก en.wikipedia
อะม็อกซีซิลลิน ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม เพนิซิลลิน

หากใช้ยาตาม 5 ข้อนี้แล้ว เชื่อว่าท่านจะใช้ยาได้โดยปลอดภัยและหายจากโรคแน่ๆ

อ้างอิงจากหนังสือ โรคกับยา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *