สเตอรอยด์คืออะไร
สเตอรอยด์(Steroid)เป็นการเรียกชื่อกลุ่มสารอินทรีย์ที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายๆสารกลุ่มคอเลสเตอรอลซึ่งพบได้หลายชนิดในร่างกาย กลุ่มที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษคือกลุ่มฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างมาจากต่อมหมวกไตชั้นนอกเพื่อควบคุมการใช้พลังงานในร่างกาย ปรับสภาวะของร่างกายจากความเครียด จากการเจ็บป่วย หรือ ติดเชื้อบาดเจ็บ เรียกสารกลุ่มนี้ว่าคอร์ติโคสเตอรอยด์ซึ่งร่างกายต้องการในปริมาณไม่มาก หามีน้อยหรือมากไปจะเกิดโรคชนิดต่างๆ แต่สเตอรอยด์ที่นำมาใช้ทางการแพทย์ เป็นสารเคมีที่สังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนในร่างกาย และปรับให้ได้หลายอนุพันธ์เพื่อเพิ่มความแรงตามวัตถุประสงค์ที่ใช้ หรือลดอาการไม่พึงประสงค์
ตัวอย่างสารกลุ่มสเตอรอยด์ ได้แก่ ไฮโดรคอร์ติโซน เพร็ดนิโซโลน บีตาเมทาโซน เด๊กซ่าเมทาโซน
ประโยชน์ของสเตอรอยด์ทางการแพทย์
ทางการแพทย์ใช้สเตอรอยด์เป็นยารักษาหรือบรรเทาอาการของหลายโรคหรืออาการผิดปกติ เช่น ทดแทนภาวะการขาดฮอร์โมนจากต่อมหวมกไต ใช้รักษาโรคบางโรคที่ใช้ยาตามมาตรฐานไม่ได้ผลหรือโรคนั้นไม่อาจควบคุมด้วยยาอื่น กดภูมิคุ้มกันรวมทั้งใช้ในการต้านการอักเสบ
ยากลุ่มสเตอรอยด์ใช้ได้หลายทางตามวัตถุประสงค์ โดยทำเป็นยาในรูปแบบต่างๆเช่น
- ยาทาภายนอก เช่น ยาสำหรับอาการผื่นแดง แพ้ไม่รู้สาเหตุคัน ควรใช้ในรูปยาเดี่ยว
- ยาหยอดตาสำหรับการอักเสบของดวงตาที่ไม่ได้ติดเชื้อ แพ้สารบางชนิด ประสาทตาอักเสบ
- ยาฉีดเฉพาะที่ ยาฉีดเข้าข้อ สำหรับข้ออักเสบชนิดรูมาตอยด์ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- ยาพ่น สำหรับผู้ป่วยหอบหืด
- ยากิน สำหรับโรคหลายชนิด
- ยาฉีดเข้าหลอดเลือด สำหรับโรคหลายชนิด
สำหรับยากลุ่มหลังๆคือยากิน จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ จ่ายได้โดยเภสัชกรจากร้านยาแผนปัจจุบัน ขย 1 เท่านั้น แต่จะจ่ายโดยพลการไม่ได้ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น ส่วนยาฉีดมักใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้นเพราะอันตรายมาก และใช้ในระยะเวลาสั้น
อันตรายจากการใช้สเตอรอยด์ไม่ถูกต้อง
เนื่องจากประสิทธิผลในการบำบัดบรรเทาอาการทำให้อาการต่างๆทุเลามากขึ้น ทำให้มีการใช้ยาสเตอรอยด์กันอย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งใช้โดยไม่จำเป็น ใช้นานเกินจำเป็น ใช้มากเกินจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันอาจมีการใช้สเตอรอยด์น้อยกว่าที่ควร เช่น การใช้ยาพ่นสเตอรอยด์สำหรับอาการหอมหืด หากร่างกายได้รับสเตอรอยด์ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการที่สังเกตุได้ชัดเจน รวมเรียกว่า Cushing Syndrome คือมีอาการ หน้ากลมเป็นพระจันทร์ น้ำตาลในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีขนขึ้นตามใบหน้าและผิวหนัง ปวดเมื่อย กระดูกบางผุ พรุน เกลือในร่างกายเพิ่ม ความดันโลหิตเพิ่ม เกิดก้อนไขมันที่บริเวณต้นคอด้านหนัง หน้าท้องลาย พุงป่อง ผิวหนังบาง เป็นลาย
สเตอรอยด์ยังปิดบังอาการแสดงของโรคติดเชื้อ ทำให้รักษาไม่ทันกาล กว่าจะพบโรคก็ลุกลามรุนแรงมากแล้ว สเตอรอยด์ยังยับยั้งการเจริญเติบโตของเด็กด้วย นอกจากนี้หากได้รับสเตอรอยด์ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการกดต่อมหมวกไต ทำให้ร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมน หากต้องการหยุดยา จะหยุดทันทีไม่ได้ เพราะจะเกิดอาการขาดฮอร์โมนอย่างเฉียบพลัน มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก บางรายอาจมีอาการรุนแรงเกิดภาวะช็อก ซึม สับสน กระสับกระส่าย ตัวเย็น เป็นลม หมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาทันกาลจะเสียชีวิตได้ หากต้องหยุดยาสเตอรอยด์ แพทย์จะปรับขนาดยาสเตอรอยด์ลงอย่างช้าๆ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ต่อมหมวกไตพื้นตัวกลับมาผลิตฮอร์โมนได้เป็นปกติ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน
นอกจากนี้ การใช้ในรูปของยาทาภายนอกมีผลทำให้ผิวหนังบางเป็นรอยแตก และมีลักษณะเป็นมันอาจมีผื่นแดงมีสิวเกิดขึ้น และหากทาเป็นบริเวณกว้างหรือทาบริเวณแผลเปิดก็อาจซึมเข้าร่างกายได้ การใช้หยอดตาทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นจนกลายเป็นโรคต้อหิน ถ้ารักษาไม่ทันอาจตาบอดได้
อ้างอิงจากหนังสือ หมอชาวบ้าน
รูปจาก
https://www.neurologyadvisor.com
https://www.proprofs.com/discuss/q/1196165/what-is-cushings-syndrome
http://st1.thehealthsite.com/wp-content/uploads/2017/08/Topical-steroids-655×353.jpg